บทสัมภาษณ์โอยาบุ โยชิฮิโระ โปรดิวเซอร์ของสตูดิโอ BONES ผู้สร้าง “Boku no hero academia (มายฮีโร่ อคาเดเมีย)” ถึงมุมมองความสนุกในสายตาของผู้ผลิตในหัวข้อ “ปัจจุบันและอนาคตของสตูดิโอแอนิเมชัน” (พาร์ทที่ 1)
ทุกปีมีผลงานในรูปแบบของหนังสือเกิดขึ้นมากมายและในปัจจุบันแอนิเมชันได้กลายเป็นวัฒนธรรมที่แสดงถึงความเป็นญี่ปุ่น นับตั้งแต่ทั่วโลกให้การยอมรับและขนานนามแอนิเมชันญี่ปุ่นว่าเป็น “Japanimation” ก็ผ่านมาหลายปีแล้ว
ที่ญี่ปุ่นมีสตูดิโอแอนิเมชันชั้นนำของโลกอยู่เยอะจนน่าตกใจ ถ้าเป็นแฟนตัวยงของอนิเมะก็ไม่แปลกที่จะมีสตูดิโอที่ชื่นชอบและรู้จักอยู่หลายสตูดิโอ
ทีมงาน animate Times ได้ไปสัมภาษณ์เหล่าสตูดิโอแอนิเมชันชั้นนำของญี่ปุ่นเหล่านั้นเพื่อถ่ายทอดเสน่ห์ของผลงานและจุดเด่นของสตูดิโอ ในโปรเจกต์ใหม่หัวข้อ “ปัจจุบันและอนาคตของสตูดิโอแอนิเมชัน”
บทความในพาร์ทที่ 1 นี้จะสัมภาษณ์คุณโอยาบุ โยชิฮิโระ โปรดิวเซอร์ของสตูดิโอ BONES ผู้สร้างผลงานอย่าง “Fullmetal Alchemist (แขนกลคนแปรธาตุ)” “Eureka Seven (ยูเรก้า เซเว่น)” และ “Kekkai Sensen (สมรภูมิเขตป้องกันโลหิต)” โดยจะพูดคุยเกี่ยวกับผลงานเรื่อง “Boku no hero academia (มายฮีโร่ อคาเดเมีย)”
เสียงตอบรับจากญี่ปุ่นและต่างประเทศจะต่างกันอย่างไร? เชิญติดตามได้เลย
ประวัติคุณโอยาบุ โยชิฮิโระー
มีตำแหน่งเป็นโปรดิวเซอร์ของสตูดิโอ BONES และได้มีส่วนร่วมสร้างผลงานในเรื่อง “STAR DRIVER kagayaki no takuto (สตาร์ไดรเวอร์: เทพบุตรพิชิตดวงดาว)” เรื่อง “DARKER THAN BLACK (ผู้ทำสัญญาทมิฬ)” และเรื่อง “Concrete Revolutio” ปัจจุบันรับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ของ “Boku no hero academia (มายฮีโร่ อคาเดเมีย)”
โปรดิวเซอร์คือผู้ที่เข้าใจหน้างานมากที่สุด
ทีมงาน : วันนี้ก็ฝากตัวด้วยนะคะ โปรดิวเซอร์โอยาบุ ปกติแล้วได้ช่วยทำหน้าที่อะไรในการสร้างอนิเมะ “Boku no hero academia (มายฮีโร่ อคาเดเมีย)” บ้างคะ?
โอยาบุ : ขึ้นอยู่กับงานครับ สำหรับการสร้างผลงานต้นฉบับของ BONES โปรดิวเซอร์แต่ละคนจะเป็นตัวหลักในการวางแผนงานกับครีเอทีฟ ส่วนใหญ่จะสร้างผลงานตั้งแต่เริ่มนับหนึ่งเลยครับ
ส่วนเรื่อง “Boku no hero academia (มายฮีโร่ อคาเดเมีย)” โปรดิวเซอร์จากสตูดิโอ TOHO animation ที่เคยร่วมงานกันติดต่อมาแนะนำว่า “เรื่องนี้เพิ่งออกขายแค่ 3 เดือน รู้จักไหมครับ?”
ถ้าจำไม่ผิดคิดว่าน่าจะเป็นช่วงเล่มที่ 1 วางขายครับ พอตอบไปว่า “ผมก็ได้ซื้อจากร้านหนังสือมาอ่านเหมือนกันครับ” ก็กลายเป็นว่าเราตกลงกันทำอนิเมะ “Boku no hero academia (มายฮีโร่ อคาเดเมีย)” ด้วยกันเลย
ส่วนเรื่องการเลือกทีมงาน เรื่องนี้ลงในนิตยสาร Shonen Jump ก่อนอื่นเลยผมคิดว่าอยากจะทำกับคุณนากาซากิ เคนจิซึ่งเป็นผู้กำกับ
เรื่องการออกแบบตัวละคร ผมคิดถึงอยู่แค่คนเดียวคือคุณอุมะโคชิ โยชิฮิโกะเพราะไสตล์งานของเขาเหมาะกับงานนี้มากที่สุด ผมลองขอร้องเขาดู ไม่รู้ว่าจะยอมตกลงรึเปล่า แต่เขาก็ยินดีที่จะร่วมงานด้วยครับ
หลังจากนั้นก็ไปนำเสนอรายชื่อทีมงานที่จะมาร่วมสร้างผลงานจาก BONES และ TOHO ที่สำนักพิมพ์ Shueisha ครับ
หลังจากกำหนดแล้วว่าจะทำเป็นอนิเมะ ผมก็มารู้ทีหลังว่าจริง ๆ แล้วอาจารย์โฮริโคชิ โคเฮซึ่งเป็นผู้แต่ง เป็นแฟนคลับตัวยงของคุณอุมะโคชิเลยละครับ ผมก็เลยคิดว่าเลือกทีมงานมาได้ถูกคนจริง ๆ
ทีมงาน : อย่างนี้นี่เอง โปรดิวเซอร์เป็นตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการสร้างผลงานตั้งแต่ต้นเลยสินะคะ
โอยาบุ : ใช่ครับ งานของโปรดิวเซอร์คือการเลือกทีมงานตั้งแต่ต้นจนจบไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่ช่วงก่อนการผลิตไปจนถึงขั้นส่งผลงาน จริง ๆ แล้วก็ไม่ได้ไปดูทุกงานหรอกครับแต่ส่วนสำคัญก็จะต้องไปรับรู้ด้วย
ทีมงาน : เป็นตำแหน่งที่ดูทุกซอกทุกมุมของผลงานเลยสินะคะ
โอยาบุ : ใช่แล้วครับ บางคนอาจจะรู้รายละเอียดลึกกว่าผมแต่ถ้าดูจากภาพรวม ผมน่าจะรู้เยอะที่สุดครับ
ทีมงาน : การเลือกทีมงานเป็นงานที่ต้องใช้ความสามารถอยู่นะคะ ตอนไปนำเสนอได้รับความเห็นว่าอย่างไรบ้างคะ?
โอยาบุ : ส่วนใหญ่ก็บอกว่า “ถ้าเป็นทีมงานที่ BONES เลือกก็ไม่เป็นไร” ครับ ผมดีใจมากเลย ตั้งแต่ผมทำงานมาก็เจอแต่อาจารย์นักเขียนที่ใจดีทั้งนั้น โชคดีจริง ๆ ครับ
อาจารย์โฮริโคชิก็ชื่นชมภาพของคุณอุมะโคชิอย่างมาก ก่อนเริ่มทำมูฟวี่เรื่องแรก (“Boku no hero academia The Movie futari no heroes”) เราจัดประชุมซึ่งมีคุณนากาซากิเข้าร่วมด้วย ทั้งสองคนดูสนุกกันมาก ผมดีใจจริง ๆ ที่ได้ร่วมงานกับอาจารย์โฮริโคชิและมีความสัมพันธ์ที่ดีมากต่อกันครับ
คาร์แรคเตอร์เดกุเปลี่ยนไปจากตอนแรก!?
ทีมงาน : หลังจากที่ “Boku no hero academia (มายฮีโร่ อคาเดเมีย)” โด่งดัง มีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้างไหมคะ? แล้วมีปัญหาหรือความสนุกในการสร้างผลงานอะไรบ้างคะ?
โอยาบุ : ผมรู้สึกขอบคุณทุกครั้งที่ได้ร่วมสร้างผลงานเรื่องยาวที่ออกฉายตอนเย็นทั่วประเทศอย่าง “Boku no hero academia (มายฮีโร่ อคาเดเมีย)” ครับ โดยเฉพาะเรื่อง “Fullmetal Alchemist (แขนกลคนแปรธาตุ)” ซึ่งเป็นเรื่องแรกที่ผมได้ร่วมสร้างในฐานะผู้ผลิต ผมดีใจมาก ๆ ที่เสียงตอบรับดีและออกมาโด่งดัง ตอนนั้นยังไม่มีการใช้โซเชียลมีเดียเลยครับ แต่ปัจจุบันผมสามารถรับรู้ความคิดเห็นจากแฟน ๆ ได้โดยตรงทันที จึงคิดว่าเป็นเรื่องที่สุดยอดมากเลยครับ
ที่ผ่านมาจากที่เห็นได้แค่ตัวเลขสถิติกลายเป็นว่ารู้สึกเหมือนเป็นความคิดเห็นที่อยู่รอบตัว ไม่ใช่แค่ในประเทศเท่านั้นแต่สามารถเชื่อมต่อความคิดเห็นของต่างประเทศได้ด้วย
อย่างตอนที่ทำมูฟวี่ภาคแรกก็จัดรอบปฐมทัศน์ที่ลอสแอนเจลิสด้วย
เนื้อเรื่องในมูฟวี่เป็นตอนที่ออลไมต์ไปเรียนแลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศพอดี ตอนแรกเราคิดว่าจะให้ไปเรียนที่สถานที่ที่ไม่มีอยู่จริงในอเมริกาแต่พอได้ปรึกษากับทีมงานก็เลยกำหนดสถานที่เป็นลอสแอนเจลิสในแคลิฟอร์เนีย ตอนฉายในโรงพอถึงฉากที่ออลไมต์มาที่ลอสแอนเจลิสคนดูก็ฮือฮากันใหญ่เลยครับ
ความคลั่งไคล้ของแฟน ๆ ต่างประเทศมีสูงมาก บางคนก็พูดว่า “อนิเมะที่เราชอบได้ทำเป็นมูฟวี่แล้ว แถมเรายังได้ดูก่อนใครอีกด้วย!” ไม่ค่อยมีหรอกนะครับที่ผลงานจากต่างประเทศทำให้คนดูสนุกและคลั่งไคล้กันได้ขนาดนี้
ตอนนี้ผมมีความสุขกับการที่แฟน ๆ ทั้งในต่างประเทศและในญี่ปุ่นสามารถดูผลงานไปพร้อมกันได้แบบไร้ความต่างของเวลาครับ ส่วนเรื่องระบบงานของสตูดิโอ ถ้าผลงานมีชื่อเสียงขึ้นก็จะมีทีมงานอยากเข้ามาร่วมงานมากขึ้น ในฐานะคนทำงานในวงการอนิเมะในยุคนี้ผมรู้สึกขอบคุณในส่วนนั้นมาก
ทีมงาน : นั่นเป็นเรื่องที่ดีมากเลยค่ะ! ปฏิกิริยาจากทีมงานก็เปลี่ยนไปด้วยสินะคะ
โอยาบุ : ถ้าผลงานดังต่อให้ไม่ได้อธิบายรายละเอียดอะไร ส่วนใหญ่ก็จะรู้จักกันอยู่แล้วทำให้พูดคุยกันเข้าใจครับ ปกติถ้าเข้ามาช่วยงานกลางคันก็จะต้องอธิบายตั้งแต่ต้นแต่พอได้พูดคุยเข้าใจกันตั้งแต่ตอนแรกอย่าง “โทโดโรกิคุงต้องเป็นแบบนี้สินะ” หรือ “เดกุต้องเป็นแบบนั้นสินะ” ก็ทำให้การประชุมง่ายขึ้น ดีมาก ๆ เลยครับ
ทีมงาน : พอรวมเรื่องนั้นไปด้วย เวลาต้องทำงานใหญ่ ๆ แบบนี้มีเรื่องอื่นที่น่าหนักใจบ้างไหมคะ?
โอยาบุ : ตอนเริ่มวางแผนงาน “Boku no hero academia (มายฮีโร่ อคาเดเมีย)” กับคุณนากาซากิ เราได้คิดและพูดคุยกันมาก่อนทำให้อาจารย์โฮริโคชิเตรียมเนื้อหาต้นฉบับไว้อย่างครบถ้วนและช่วยวางตารางเวลามาให้ด้วยครับ เพราะฉะนั้นแผนแรกก็คือทำตามแบบต้นฉบับให้คนดูไม่รู้สึกแปลก
มังงะกับอนิเมะมีวิธีการนำเสนอต่างกันจะทำให้เหมือนกันหมดก็คงไม่ได้ แน่นอนว่าฉากที่สำคัญในมังงะต้องทำออกมาให้เหมือนกันครับ แต่สิ่งที่สำคัญคือต้องสร้างอนิเมะแบบที่ไม่ให้คนดูรู้สึกแปลกแม้จะตัดบางช่องของมังงะออกไป
ในมังงะสามารถทำช่องขนาดใหญ่ที่กินพื้นที่ของทั้ง 2 หน้าได้หรือทำช่องซ้อนกันเพื่อให้ช่องสุดท้ายดูน่าสนใจ แถมยังข้ามเวลาบางช่วงได้ แต่ถ้าเป็นอนิเมะเวลาจะต้องดำเนินไปเรื่อย ๆ กลับไปกลับมาไม่ได้ครับ
พอรวมกันทั้งหมดก็จะต้องแก้ไข บางครั้งก็จะต้องแก้ท่าทางตัวละครหรือปรับบทพูดด้วยเพื่อไม่ให้คนดูที่อ่านมังงะมาแล้วรู้สึกแปลกครับ
ตอนผมกับคุณนากาซากิไปพบกับอาจารย์โฮริโคชิครั้งแรกก็พูดคุยกันให้เข้าใจว่าอนิเมะเป็นสื่อที่ต่างจากมังงะและมีวิธีการนำเสนองานต่างกัน อาจารย์ก็พูดเลยว่าไม่อยากให้ทำตามช่องแบบมังงะ
ถึงแม้ว่าจะดีใจแต่นั่นก็เป็นงานยากเหมือนกันนะครับ (หัวเราะ) จากนั้นผมก็สร้างผลงานโดยให้ความสำคัญกับคำพูดนั้นตลอดเลยครับ
ทีมงาน : กลายเป็นว่าแม้จะทำ “Boku no hero academia (มายฮีโร่ อคาเดเมีย)” แต่ก็ต้องทำให้ต่างกับ “Boku no hero academia (มายฮีโร่ อคาเดเมีย)” อีกสินะคะ
โอยาบุ : ใช่เลยครับ ทำ “Boku no hero academia (มายฮีโร่ อคาเดเมีย)” ในแบบฉบับของอนิเมะ
ทีมงาน : จากที่ได้พูดถึงเมื่อกี้ อยากรู้เกี่ยวกับเบื้องหลังการสร้างผลงานเรื่องยาวอย่าง “Boku no hero academia (มายฮีโร่ อคาเดเมีย)” อีกสักเล็กน้อยค่ะ
โอยาบุ : จริง ๆ แล้วเรามีการอัพเดตข้อมูลตัวละครและในภาคที่ 5 มีการเปลี่ยนวิธีวาดเดกุอย่างมากเลยครับ ก่อนหน้านี้ก็มีการเปลี่ยนเล็กน้อยมาเรื่อย ๆ ในช่วงภาคที่ 1 และ 2 จากเดกุที่เป็นคนธรรมดาก็ฝึกฝนร่างกายจนทำให้ตัวใหญ่ขึ้น ในตอนที่ 5 ก็เปลี่ยนไปหนึ่งรอบครับ
พอเข้ามาเรียนที่โรงเรียนยูเอก็ผ่านการฝึกมาหนึ่งปีแล้ว ร่างกายก็จะต่างไปจากเดิมอีก ตรงส่วนนี้คุณอุมะโคชิเป็นคนเปลี่ยนตอนช่วงตรวจงานครับ
พอภาค 2 ก็เพิ่มกล้ามเนื้อเข้าไปเล็กน้อย เราใช้เวลาในการอัพเดตข้อมูลตัวละครนานเพราะต้องตรวจสอบทุกตัวละครโดยดูจากส่วนที่คุณอุมะโคชิแก้มาให้ เราทำผลงานมาจนถึงภาคที่ 5 ซึ่งเป็นภาคที่ข้อมูลตัวละครที่คุณอุมะโคชิทำมาให้ต่างจากตอนแรกมากที่สุดครับ
นอกจากนี้ฝีมือการวาดตัวละครของอาจารย์โฮริโคชิก็พัฒนาขึ้นมาก จากที่เมื่อก่อนทีมงานเคยงงว่าควรจะวาดตามเส้นไหนดี (หัวเราะ)
แต่พอทำมาได้ 3-4 ปี ต่อให้ไม่ต้องดูข้อมูลตัวละครผู้กำกับภาพก็สามารถวาดเองได้ แถมทีมงานแต่ละคนก็มีวิธีการวาดตัวละครในแบบของตัวเอง ผมคิดว่าดีมากเลยครับ
ไม่ใช่แค่ชุดฮีโร่เท่านั้นแต่สีหน้าหรือกล้ามเนื้อก็เปลี่ยนไปด้วย อยากให้สังเกตกันดูนะครับ
ทีมงาน : ทำผลงานมานานขนาดนี้ ทีมงานก็วาดได้ไม่จำเป็นต้องดูข้อมูลตัวละครสินะคะ
โอยาบุ : ใช่ครับ แต่พอเริ่มวาดจนชินมือแบบชุดฮีโร่ก็เปลี่ยนไปอีก (หัวเราะ) บางครั้งก็ได้ยินคนหน้างานร้องตกใจด้วยว่า “เปลี่ยนตรงนี้เหรอ!?”
อาจจะดูเป็นการโฆษณาแต่ตอนนี้ BONES ออกหนังสือรวมผลงานมาแล้ว ยังไงก็ลองไปดูนะครับว่าเดกุในภาค 1 กับภาค 2 เปลี่ยนไปยังไงบ้าง
ทีมงาน : โดยส่วนตัวคิดว่าเสน่ห์ของเรื่อง “Boku no hero academia (มายฮีโร่ อคาเดเมีย)” คืออะไรคะ?
โอยาบุ : …จะว่ายังไงดีนะ ให้พูดง่าย ๆ เลยคือเป็นผลงานที่เป็นสไตล์ Shonen Jump ครับ โดยรวมคือ ไม่ได้โฟกัสแค่เดกุแต่มันเป็นเรื่องราวของเด็กหนุ่มที่ไม่มีอะไรเลยที่พยายามพัฒนาตนเองไปพร้อมกับเพื่อนทำให้ได้รับพลังที่ยิ่งใหญ่และบรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ไปเรื่อย ๆ ครับ
ข้อดีของ “Boku no hero academia (มายฮีโร่ อคาเดเมีย)” คือเป็นเรื่องยาวทำให้ได้วาดการเจริญเติบโตของตัวละครอื่นนอกจากเดกุได้ ตัวละครแต่ละคนก็มีวิธีเข้าใจความหมายของคำว่า “ฮีโร่” หลากหลายต่างกันไป ที่ตรงไปตรงมามากที่สุดคือเดกุ ส่วนบาคุโกจะคิดต่างออกไปครับ
ทำไมถึงอยากเป็นฮีโร่ ทำยังไงถึงจะได้เป็นฮีโร่ การคิดเรื่องพวกนั้นแบบไม่หยุดและพยายามต่อไปเรื่อย ๆ ทำให้ได้รู้สึกถึงความเป็นวัยรุ่นเลยครับ
ทีมงาน : แสดงความหลากหลายของฮีโร่ออกมาได้ดีมากเลยค่ะ
โอยาบุ : ใช่ครับ พอเข้าภาคที่ 5 จะไม่ได้มีแค่นักเรียนห้อง 1-A เท่านั้นแต่จะมีนักเรียนห้อง 1-B ออกมาด้วยครับ ตัวละครอย่างโมโนมะ เนโตะน่ะ สุดยอดเลยนะครับ โมโนมะรู้ตัวดีว่าลำพังความสามารถที่ตัวเองมีนั้นไม่เพียงพอที่จะเป็นตัวเอกได้จึงสร้างภาพของฮีโร่ในแบบของตัวเองซึ่งยอดเยี่ยมไปเลยครับ
เพราะฉะนั้นใน “Boku no hero academia (มายฮีโร่ อคาเดเมีย)” จะไม่มีตัวละครไหนที่ตกหล่นไปครับ ทุกคนมีจุดที่มีเสน่ห์อยู่
ในครึ่งแรกของภาคที่ 5 จะเริ่มเห็นได้ว่าเด็กห้อง 1-B เป็นตัวหลักครับ สามารถมุ่งความสนใจไปที่การเติบโตของตัวละครแค่คนเดียวหรือดูตัวละครที่อยู่รอบ ๆ เติบโตขึ้นได้ การที่เติบโตเพราะมีเพื่อนอยู่เคียงข้างทำให้สมกับที่เป็นมังงะของ Shonen Jump ความสนุกก็มีไม่ขาด เป็นส่วนที่สุดยอดเลยครับ
ผลงานต้นฉบับของ BONES
ทีมงาน : คิดว่างานของโปรดิวเซอร์คงจะมีหลากหลายแต่สำหรับคุณโอยาบุแล้ว อะไรเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างอนิเมะคะ?
โอยาบุ : จริง ๆ แล้วโปรดิวเซอร์ไม่ได้จำเป็นต้องมีความสามารถดีเลิศหรอกครับ ถ้าสามารถทำงานไปเรื่อย ๆ กับคนที่หลากหลายและฟังสิ่งที่คนหลายคนพูดได้ก็จะเป็นโปรดิวเซอร์ที่ดีได้ครับ
ผมวาดรูปก็ไม่ได้ แต่งเรื่องก็ไม่ได้ แถมร้องเพลงก็ไม่เป็น แต่เข้าใจว่ามีคนที่สามารถทำงานนั้น ๆ ได้และตั้งใจฟังเสียงของพวกเขา ผมคิดว่านั่นคือสิ่งที่ทำให้เป็นโปรดิวเซอร์ที่ดีได้ครับ
ทีมงาน : เป็นเหมือนศูนย์กลางของคนหลาย ๆ คนสินะคะ
โอยาบุ : ใช่ครับ ความคิดเห็นที่ลงตัวสำหรับทุกคนอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเสมอไปจึงต้องเลือกความเห็นที่ดีที่สุดให้ได้ ต้องคุยกับคนที่มีอายุมากกว่าแบบเท่าเทียมกันด้วยครับ แน่นอนว่าได้มีโอกาสคุยกับคนรุ่นเดียวกันแล้วก็คนอายุ 20 ด้วยครับ ผมสนุกมากเลยที่ได้คุยกับคนที่เป็นอัจฉริยะในรุ่นนั้น บางทีก็เจอว่าเขาวาดได้ดีขนาดนั้นมาตั้งแต่แรกหรือบางทีก็มารู้ว่าเป็นคนต่างชาติด้วยครับ การที่ได้ทำงานกับคนที่มีนิสัยและอายุหลากหลายก็สนุกดีนะครับ ผมสนุกที่ได้ฟังเรื่องราวต่าง ๆ จากพวกเขา
ทีมงาน : มีแผนอะไรในครั้งหน้าที่ “Boku no hero academia (มายฮีโร่ อคาเดเมีย)” ไปเปิดตลาดต่างประเทศบ้างไหมคะ?
โอยาบุ : ผมคิดว่าน่าจะดีถ้าได้ทำตอนที่เน้นสำหรับแฟน ๆ ต่างประเทศเป็นหลัก ผมอยากทำตอนพิเศษแบบสมัยก่อนหรือพวกเรื่องสั้นที่ออกวางขายที่ต่างประเทศก่อนบ้าง ผมเคยคุยกับผู้ผลิตที่อยู่ต่างประเทศดูก็พบว่าออลไมต์ดังในต่างประเทศมากกว่าในญี่ปุ่นครับ คิดว่าสำหรับแฟน ๆ ต่างประเทศ ภาพของฮีโร่ไม่ใช่เด็ก ๆ อย่างเดกุและบาคุโก แต่เป็นฮีโร่ที่เป็นผู้ใหญ่อย่างออลไมต์ครับ
นอกจากนี้ยังมีแฟนคลับต่างประเทศที่คลั่งไคล้ตัวละครโทกะ ฮิมิโกะอยู่เยอะ มีการสนับสนุนพวก “วายร้าย” ซึ่งต่างกับญี่ปุ่นครับ มีความเป็นไปได้ที่จะสนองความต้องการของแฟนคลับต่างประเทศที่ต่างไปจากแฟนคลับญี่ปุ่น ผมจึงอยากจะวางแผนด้วยกันกับทีมครับ
ทีมงาน : เรื่องของออลไมต์ก็น่าสนใจมากเลยค่ะ
โอยาบุ : จำนวนสินค้าของออลไมต์ในต่างประเทศโดยเฉพาะอเมริกาต่างกับญี่ปุ่นมากเลยครับ ตลาดต่างประเทศมีขนาดใหญ่ ผมอยากลองทำอะไรให้แฟน ๆ ต่างประเทศมีความสุขดูบ้างครับ
ทีมงาน : สุดท้ายนี้ อยากให้พูดถึงเรื่องที่ BONES อยากลองท้าทายทำต่อจากนี้ดูค่ะ
โอยาบุ : จุดแข็งของสตูดิโอ BONES คือ เป็นสตูดิโอที่มีความสุขไปกับการช่วยกันสร้างผลงานด้วยกัน ทีมงานจะร่วมมือกันสร้างผลงานต้นฉบับขึ้นมาและในทุก ๆ วันจะคิดว่าจะสามารถเผยแพร่และส่งต่อผลงานเหล่านั้นไปให้คนดูได้อย่างไรบ้างครับ อาจจะใช้เวลาหลายปีในการประกาศออกอนิเมะต้นฉบับสักเรื่อง ในยุคนี้เราก็ยังอยากท้าทายโดยการออกอนิเมะที่เป็นแบบฉบับของเราเองนะครับ
แน่นอนว่าต่อจากนี้เราก็อยากพัฒนาฝีมือในการผลิตอนิเมะที่มีมังงะต้นฉบับเป็นของตัวเองอย่าง “Boku no hero academia (มายฮีโร่ อคาเดเมีย)” ต่อไปเรื่อย ๆ ด้วย โปรดติดตามผลงานของพวกเราด้วยนะครับ
[ผู้สัมภาษณ์ : อิชิบาชิ ฮารุกะ / ถ่ายภาพ : MoA]
▼ที่ห้องประชุมของ Bones จะมีภาพวาดผลงานของพวกเขาจนถึงปัจจุบันอยู่ด้วย
บทความต้นฉบับ: https://www.animatetimes.com/news/details.php?id=1619596716